จัดสวน

การจัดภูมิทัศน์ หรือการจัดสวน  (Landscape)
การออกแบบจัดสวน  นับเป็นการออกแบบเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์  และระหว่างมนุษย์ต่อธรรมชาติ  ปัจจุบันธรรมชาติถูกทำลายลงอย่างมาก  ความสำคัญของการจัดสวนก็มีคุณค่ามากขึ้น   ทั้งในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ  การจัดวางผังเมือง  การกำหนดพื้นที่สีเขียว  การกำหนดเขตอุตสาหกรรม  และเขตที่อยู่อาศัย  เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชา  การออกแบบจัดสวนไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่จะต้องระลึกเสมอว่า   ต้องออกแบบให้มีความสำพันธ์กับสภาพแวดล้อม  อันรวมไปถึงสภาพพื้นที่   รูปแบบของสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้าง  มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม  และยังจะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้คนในสังคมนั้นๆด้วย  การออกแบบเพื่อการจัดสวนจึงไม่ใช่เป็นงานที่ทำลายสภาพแวดล้อม  แต่เป็นงานที่ต้องเสริมสร้างสภาพแวดล้อมของส่วนรวมให้ดีขึ้น

ประโยชน์ของการจัดสวน
๑.การจัดสวนทำให้เกิดการดูแลพื้นที่อย่างดี   มีขอบเขตแน่นอน  เกิดความปลอดภัยในการใช้พื้นที่
๒.การจัดสวนเป็นการช่วยลดมลภาวะต่างๆ  เช่น  เสียงรบกวน  ฝุ่น  ลม  แสงแดด  ด้วยการออกแบบมาควบคุม  เพราะการจัดสวนเป็นการควบคุมและสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมน่าอยู่
๓.การจัดสวนทำให้พื้นที่สะอาด  อากาศบริสุทธิ์  ควบคุมระดับอุณหภูมิ  แสงแดด  ให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับความต้องการ
๔.การจัดสวนช่วยให้มีการวางแผนการใช้พื้นที่  ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์มากที่สุดมีสัดส่วน  ขอบเขตที่เหมาะสมแน่นอน  เช่น  บริเวณพักผ่อนส่วนตัว  บริเวณออกกำลังกาย  พื้นที่สวนครัว  สนามเด็กเล่น  สวนไม้ดอกไม้ประดับ  หรือพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ
๕.การจัดสวนช่วยแก้ไขและปิดบังสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าดู  และยังแก้ไขการพังทลาย  การเสื่อมโทรมของหน้าดินอีกด้วย
๖.การจัดสวนช่วยให้เกิดความสุขทางด้านจิตใจ  เพราะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติและพืชพรรณ

รูปแบบของสวน
การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อค้นหาสิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอนับเป็นธรรมชาติของมนุษย์จึงเป็นผลทำให้งานออกแบบทุกด้านพัฒนาไปอย่างกว้างขวาง สวนได้ถูกแบ่งไว้เป็น ๒ แบบใหญ่ๆ  คือสวนแบบประดิษฐ์ (Formal   style)  และสวนแบบธรรมชาติ  (Informal  style)  แต่ในปัจจุบันยังมีรูปแบบสวนเกิดขึ้นจากการพัฒนาการของแนวความคิดจากรูปแบบสวนทั้ง ๒  เรียกว่า สวนแบบสมัยใหม่ (Contemporary )

๑.สวนแบบประดิษฐ์หรือสวนแบบเรขาคณิต  (Formal  style)
สวนแบบนี้วางแปลนโดยใช้รูปเรขาคณิตเป็นหลัก   เช่น  สี่เหลี่ยม   สามเหลี่ยม  วงกลม
ดังนั้นการควบคุมตัดแต่งรูปทรงต้นไม้จะเห็นอย่างเด่นชัด  เจาะจง   จัดวางอย่างตั้งใจ  การจัดสวนแบบนี้มักจะเป็นการจัดในพื้นที่กว้างจึงจะเกิดความประทับใจ  พื้นที่จัดมักเป็นที่ราบเรียบ  ไม่นิยมพื้นที่สูงๆ ต่ำๆ  เป็นเนินเขา  การจัดจะคำนึงถึงความสมดุล


๒.สวนรูปแบบธรรมชาติ  (Informal  style)
ในการศึกษาเรื่องรูปแบบสวนธรรมชาติ  เราแบ่งได้เป็น ๒ แนวทาง  คือ
๑.การจัดสวนแบบธรรมชาติของชาวตะวันตก
๒.การจัดสวนแบบธรรมชาติของชาวตะวันออก

การจัดสวนแบบธรรมชาติของชาวตะวันตก
อังกฤษเป็นชาติแรกที่ได้เริ่มพัฒนาสวนแบบนี้ ได้เกิดขึ้นหลังจากที่สวนแบบประดิษฐ์ได้
เจริญถึงที่สุด และเสื่อมความนิยมลงไป  และได้เริ่มมีการสร้างสรรค์รูปแบบของธรรมชาติ พื้นที่จะมีความสูงต่ำลดหลั่น  การจัดเพื่อการใช้ประโยชน์จากการพักผ่อนอย่างแท้จริงเป็นสวนที่ใช้พันธุ์ไม้หลากสีสัน  มากด้วยชนิดและประเภทจัดวางดูใกล้เคียงกับการก่อเกิดโดยธรรมชาติและเข้ากับทัศนียภาพโดยรวม


การจัดสวนแบบธรรมชาติของชาวตะวันออก
ประเทศจีนเป็นแม่แบบแผ่อิทธิพลไปสู่เกาหลี  ญี่ปุ่น  เป็นความงามของธรรมชาติที่ได้
ผ่านการกลั่นกรองมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนผ่านการจำลองโดยใช้มาตราส่วนย่อ  การจัดสวนของชาวจีนและญี่ปุ่นยังแฝงเร้นด้วยความเชื่อความศัทธาถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ  เชื่อในโชคลาง  อิทธิพลของธรรมชาติที่มีต่อวิถีชีวิตของมนุษย์    ความหมายที่ไม่เหมือนกับสวนชาติใดๆในโลก  ก็คือ เจดีย์   ตะเกียงหิน  อ่างหิน  ไผ่ไล่กวาง  ซึ่งมีความงดงามความวิเวกบริสุทธิ์แล้วยังแฝงความหมาย  ความเชื่ออยู่ในเนื้อหาสวนอีกด้วย  ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุถึง “สุนทรียภาพอันเรียบง่ายที่เกิดจากการปรุงแต่งธรรมชาติอย่างมีรสนิยม”  เพื่อให้ชีวิตดำรงสภาพที่กลมกลืนไปกับธรรมชาติมากกว่าการบังคับธรรมชาติให้มารับใช้ตามคติชาวตะวันตก

รูปแบบของสวนธรรมชาติ  โดยทั่วไปแล้วการจัดสวนที่มุ่งการเลียนแบบธรรมชาตินั้นจะ
เป็นการจัดในพื้นที่ที่มีความสูงต่ำ  ลดหลั่น  การจัดวางกลุ่มพันธุ์ไม้เป็นไปอย่างธรรมชาติ  คำนึงถึงการจัดเป็นกลุ่มอิสระ  ไม่ยึดรูปแบบทางเรขาคณิตมากำหนด  แต่อาศัยจังหวะการจัดวางให้เกิดสมดุลด้วยความรู้สึก  จึงมีความงามอย่างลึกซึ้งก่อให้เกิดความคิดคำนึงต่อเนื่อง  เกิดแรงบันดาลใจ  และจินตนาการ จึงเรียกสวนแบบนี้ว่า Naturalistic style  ก็ได้


สวนสมัยใหม่  (Contemporary)
เป็นการผสมผสานกันกับสวนทั้ง ๒ แบบ ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบแอบ      
สแทรกต์  (Abstract)  หรือแบบนามธรรม  เป็นการเน้นเรื่องราวอย่างกลมกลืนเหมือนธรรมชาติ จะคำนึงถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อย  สวยงามและดูแลง่าย

องค์ประกอบในการออกแบบ
การออกแบบงานศิลปะย่อมเกิดจากการนำเอา “องค์ประกอบการออกแบบ” ต่อไปนี้มาสร้างสรรค์รวมกันมาเป็นผลงาน  แต่จะสวยงามมากน้อยแค่ไหน  ย่อมขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญเฉพาะบุคคลไป
องค์ประกอบการออกแบบมีดังนี้
๑.จุด (Dots)
๒.เส้น  (Line)
๓.รูปร่างและรูปทรง  (Shape  and  Form)
๔.มวลและปริมาตร  (Mass  and  Volume)
๕.ผิวสัมผัส  (Texture)
๖.บริเวณว่าง  (Space)
๗.สี  (Color)
๘.ลวดลาย  (Pattern)

จุด  (Dots)
การใช้จุดในสวนก็เพื่อบอกถึงความต่อเนื่องเชื่อมโยง  การเน้นนำสายตาสร้างระยะให้เกิดขึ้น  หรือจะใช้เน้นให้เกิดความเด่นขององค์ประกอบอื่นๆ

เส้น  (Line)
หมายถึง จุดที่เรียงต่อๆกัน  มีอิสระทั้งขนาด  ทิศทาง  ระยะ  มีสภาพเป็นตัวแบ่งพื้นที่
หรือกำหนดบริเวณว่าง   เส้น ในการออกแบบจัดสวนจะให้ความรู้สึกต่อการมองด้วย  เช่น ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวความต่อเนื่องสัมพันธ์   และการนำสายตา  ลักษณะของเส้นในการออกแบบจัดสวน  มีลักษณะต่างๆ    เช่น
-เส้นตรง   ให้ความรู้สึกมั่นคงแข็งแกร่ง  สง่า  แสดงถึงความสูง
-เส้นนอน  หรือเส้นระดับ   ให้ความรู้สึกราบเรียบ   สงบ  พักผ่อน
-เส้นโค้ง    ให้ความรู้สึกนุ่มนวล  อ่อนไหว  ความเป็นอิสระ
-เส้นทะแยง  เส้นซิกแซ็ก   ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว  รวดเร็ว  ตื่นเต้น  แข็งกร้าว  อิทธิพลของเส้นลักษณะนี้คือความเป็นแบบแผน  น่าเกรงขาม  จึงเป็นเส้นที่มักใช้ตกแต่งในสวนแบบประดิษฐ์

รูปร่างและรูปทรง( Shape and  form )
รูปร่างมี 2 มิติ คือมีกว้าง กับ ยาว  เปรียบกับรูปที่มีลักษณะ แบนๆ ส่วนเนื้อที่ภายในของ
ทรงพุ่มหรือรูปทรงกระบอกของลำต้นนั้น  เป็นรูปทรงเป็นรูป ๓ มิติ  คือมีกว้าง  ยาวและลึก ให้ความรู้สึกเป็นกลุ่มก้อน  มีน้ำหนัก  มีเนื้อที่ภายใน  รูปร่างและรูปทรง เกิดจากเส้นลักษณะต่างๆ มาติดต่อกันในทิศทางต่างๆ ในการออกแบบจัดสวน  รูปทรงนับเป็นสิ่งสำคัญมาก  เพราะใช้กำหนดขนาด  ปริมาณ  พื้นที่  ความงามและการใช้ประโยชน์ของสวน

มวลและปริมาตร ( Mass  and  Volume)
มวล  หมายถึง เนื้อทั้งหมดของสาร  ถ้าเป็นพุ่มไม้ก็คือพื้นที่ภายในทรงพุ่มทั้งหมด  มวล
ของหินก็คือเนื้อที่แข็งแกร่งของหิน  ส่วนปริมาตร คือพื้นที่ในอากาศ หรือบริเวณวาง หรือหนา  มวลและปริมาตรจึงอยู่รวมกัน  ในเชิงการออกแบบจัดสวนแล้ว  การกำหนดมวลและปริมาตรมักจะถูกเรียกกลืนไปกับเรื่องของเนื้อที่และปริมาณ

ผิวสัมผัส  (Texture)
เป็นลักษณะผิวหน้าของวัตถุ  ที่สามารถให้ความรู้สึกและรับรู้ได้ด้วยสายตา หรือด้วยกายสัมผัส  มีหลายลักษณะ  เช่น ผิวสัมผัสหยาบ  ละเอียด  มัน  ด้าน  การกำหนดผิวสัมผัสในสวนก็เพื่อผลทางด้านการมอง  ให้ปรากฏความงามซึ่งจะใช้สายตาเป็นตัวกำหนดเสมอ  พันธุ์ไม้ที่มีใบขนาดใหญ่  หรือผิวที่หยาบขรุขระของลำต้น  ของผนังกำแพง  ลักษณะผิวสัมผัสก็หยาบ  ถ้าพันธุ์ไม้ที่มีขนาดของใบโดยรวมเล็ก  ฝอยหรือพื้นผิวที่เรียบสม่ำเสมอ  จะมีลักษณะผิวสัมผัสละเอียด

อิทธิพลของผิวสัมผัสต่อความรู้สึกนั้น  ผิวสัมผัสที่หยาบ  จะรู้สึกหนักทึบ  แข็ง เก่าแก่
โบราณ   ผิวสัมผัสระเอียดจะให้ความรู้สึกอ่อน  บางเบา  สว่าง  น่าสัมผัส  ผิวสัมผัสปานกลางจะให้ความรู้สึกในลักษณะของความเชื่อมให้เกิดความกลมกลืน

บริเวณว่าง (Space)
ในการจัดสวนอาจเรียกว่า “พื้นที่” ก็ได้  แต่ในการออกแบบ  คำว่า Space  ถูกใช้เรียกอย่าง
กว้างขวาง  และในส่วนของการออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรมนั้นจะเห็นว่าบริเวณว่าง  หมายรวมถึงที่ที่เป็นทั้งรูปร่าง  เรียกว่า Positive  Space  หรือตรงกับส่วนที่เป็น Solid  mass  (สิ่งที่ทึบ) เช่น กลุ่มพันธุ์ไม้  ภูเขา  อาคารบ้านเรือน  ฯลฯ  และที่ที่นอกเหนือจากความเป็นรูปร่างเรียกว่า Negative  Space  หรือตรงกับ Open  Space  (สิ่งที่โล่ง) เช่น  พื้นดิน  สนามหญ้า  พื้นน้ำ  ท้องฟ้า

สี (Color)
สีนอกจากจะให้คุณค่าทางด้านความงดงามแล้ว  ยังให้ความรู้สึกและมีผลทางด้านจิตวิทยาของมนุษย์ด้วย  งานออกแบบสวนเป็นงานที่ผู้ออกแบบต้องรู้จักเลือกสีสันของพืชพรรณ  วัสดุ  อุปกรณ์ต่างๆมาจัดวางให้เกิดความสวยงาม  ผู้ออกแบบจึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฎีสีพอสมควรและต้องรู้ว่าพืชพรรณชนิดใดมีสีอะไร  เพื่อนำมากำหนดออกแบบได้ถูกต้อง

พันธุ์ไม้ที่ใช้ในการออกแบบจัดสวน
การแบ่งจะแบ่งตามลักษณะรูปร่างที่ปรากฏภายนอกรวมทั้งวัตถุประสงค์การใช้
๑.  ไม้ต้น (Tree)  เป็นไม้เนื้อแข็งมีอายุหลายฤดู  มีลำต้น เดี่ยว สูง  คือช่วงของลำต้นที่สูงจากพื้นดินถึงกิ่งแรก  แบ่งได้ดังนี้
-ไม้ต้นขนาดเล็ก   มีความสูงประมาณ  ๔-๖ เมตร  เช่น  หมากเหลือง  แปรงล้างขวด
-ไม้ต้นขนาดกลาง   มีความสูงประมาณ  ๑๐-๑๕  เมตร  เช่น  ชมพูพันธุ์ทิพย์  ชงโค  จำปี
-ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่  มีความสูงประมาณ  ๑๕  เมตร ขึ้นไป  เช่น จามจุรี  ไทร  ประดู่

       ๒.  ไม้พุ่ม (Shrubs) เป็นไม้เนื้อแข็งมีอายุหลายฤดู  ลำต้นเตี้ย   แตกกิ่งก้านชิดดิน  ทำให้ดูมีหลายต้น   กิ่งก้านจะแผ่ออกเป็นพุ่ม  ควบคุมรูปทรงได้ง่าย  แบ่งได้ดังนี้
-ไม้พุ่มเตี้ย   มีความสูงไม่เกิน 1เมตร  เช่น ชบาหนู  ชวนชม  พยับหมอก
-ไม้พุ่มกลาง  มีความสูง  ๑.๕๐ –๒.๕๐ เมตร  เช่น  เข็มม่วง  ลิ้นกระบือ  หูปลาช่อน  โกสน
-ไม้พุ่มสูง  มีความสูง  ๓-๕  เมตร  เช่น  ทรงบาดาล  โมก


๓.  ไม้เลื้อย  (Vine)  เป็นไม้ที่ต้องอาศัยเกาะเกี่ยวพันกับสิ่งค้ำจุนเพื่อให้ลำต้นเจริญอยู่ได้เป็นไม้ที่เจริญเติบโตเร็ว  เพราะไม้มีน้ำหนักกดตัวเอง  ในไม้ประเภทนี้รวมถึงไม้พวกรอเลื้อยด้วย โดยทั่วไปไม้เลื้อยจะมีขนาดตั้งแต่  ๓ เมตรขึ้นไป  เช่น การเวก  กระเทียม  เถา  อัญชัน

๔.  ไม้คลุมดิน (Ground  cover)เป็นพันธุ์ไม้ที่มีขนาดเตี้ย  เล็ก สวยงาม  ขยายพันธุ์ง่ายโตเร็ว  แผ่ขยายออกด้านข้างรวดเร็ว  ใช้คลุมผิวดินเพื่อสร้างความสวยงามหรือเพื่อประโยชน์อื่นๆในเชิงประดับตกแต่ง  มีความสูงประมาณ  ๐.๓๐ เมตร  เช่น ดาดตะกั่ว  ผักโขมแดง ผักเป็ด

        ๕.  ไม้น้ำ (Aquatic  plant) เป็นพันธุ์ไม้ที่มีลักษณะพิเศษออกไป  ทั้งรูปร่างของลำต้นและใบ  สามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำ   หรือริมน้ำ  เช่น  บัวต่างๆ  กกธูป  เตย  พุทธรักษาน้ำ

        ๖.  ไม้ใบ  เป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกเพื่อวัตถุประสงค์  ที่จะใช้ประโยชน์จากรูปลักษณ์ของใบอันสวยงาม  สีสันแปลก  มักเป็นพันธุ์ไม้ที่ต้องการแสงน้อยถึงปานกลาง  ความชื้นสูง  เช่นไม้ในสกุลฟิโลเด็นดรอน  พลูฉลุ

        ๗  ไม้ดอก   เป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกไว้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ใช้ประโยชน์จากสีและความสวยงามของดอกทั้งในเชิงการประดับตกแต่งหรือปลูกเพื่อจำหน่าย  เป็นได้ทั้งไม้พุ่ม   ไม้คลุมดิน  ไม้  เลื้อย  หรือเป็นไม้ดอกล้มลุก  ได้แก่  บานชื่น  ดาวเรือง  กุหลาบ

         ๘.  ไม้อวบน้ำ   เป็นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่แห้งแล้ง  เป็นไม้ที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบในลำต้นสูง  เช่น  อากาเว่  หางจระเข้  ลิ้นมังกร


         ๙.  ไม้ดัด  ไม้แคระ  เป็นพันธุ์ไม้ที่ควบคุมการเจริญเติบโตทางรูปทรงลำต้นเอาไว้  เพื่อให้ได้รูปทรง  และขนาดตามที่ต้องการ  ไม้แคระมักจะคงรูปที่แท้จริงตามธรรมชาติไว้เพียงแต่ถูกย่อส่วนลงมา  ได้แก่  ชาฮกเกี้ยน  สน  ไทร

ลักษณะสวนสาธารณะที่ดี
รูปแบบลักษณะสวนสาธารณะตามความต้องการ
-จัดให้มีพื้นที่ออกกำลังกายในสัดส่วนที่มากขึ้น และบางแห่งอาจจัดให้มากกว่าพื้นที่แบบผ่อนคลาย
-จัดให้มีกิจกรรมที่หลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยเน้นครอบครัว เช่น ให้ ผู้สูงอายุ เช่น ปู่ย่า / พ่อ-แม่ - วัยทำงาน/ วัยรุ่นและเด็กเล็กสามารถมาที่สวนเดียวกันพร้อมกันได้โดยไม่เบื่อและรบกวนกัน
-มีพื้นที่อเนกประสงค์ที่ใช้ได้ทั้งการออกกำลังกายและทำกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่นการแสดงและการเล่นดนตรี
-มีความร่มรื่น สวยงาม เขียวสะอาด และดูแลรักษาง่าย
-เข้าถึงสะดวก ทางเข้าเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนหรือชุมชน ให้ความสำคัญทางเดินเท้า แยกทางรถยนต์และที่จอด
-มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอและตอบสนองต่อภูมิอากาศ
-ลดหรือขจัดการรบกวนระหว่างกิจกรรมที่ขัดแย้งกันด้วยการแบ่งเขตและการออกแบบที่ดี
-มีความปลอดภัยสูงทั้งจากอาชญากรรมและจากอุบัติเหตุ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น